วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
โครงการฝายชะลอน้ำ
ฝายชะลอน้ำกับระบบนิเวศของลำน้ำ
จากทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) หนึ่งในการวิธีการดังกล่าวคือการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ ให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองฝั่งน้ำ กลายเป็นป่าเปียก(มูลนิธิชัยพัฒนา, ๒๕๕๕) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)(๒๕๕๐) กล่าวไว้ว่า ฝายชะลอน้ำ ฝายต้นน้ำลำธาร ฝายกั้นน้ำ ฝายแม้ว หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ต่างก็คือสิ่งเดียวกัน เรียกด้วยภาษาอังกฤษว่า Check Dam คือ สิ่งก่อสร้างขวางหรือกั้นทางเดินของลำน้ำ และจากการประชุม กปร.ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ ได้มีการแจ้งในที่ประชุมทราบถึงพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ ตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ว่าควรมีการขยายให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่
จากกระแสดังกล่าวได้มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดทำโครงการในการสร้างฝายชะลอน้ำหลายพันฝาย โดยมีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อชะลอการไหล ลดความรุนแรงของกระแสน้ำและลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง ๒) ช่วยให้น้ำอยู่ในลำห้วยนานขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ๓) ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำลดการตื้นเขินที่ปลายน้ำ ทำให้น้ำใสและมีคุณภาพดีขึ้น ๔) ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ให้สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต ๕) คืนสังคมพืชให้แก่เนินเขา/ภูเขาหัวโล้น ๖) เมื่อดินชื้น ป่าก็ชื้น กลายเป็นแนวกันไฟลดความรุนแรงของไฟป่าได้
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีงานการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนข้อดีของการสร้างฝายชะลอน้ำ เช่น งานวิจัยที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ในช่วงฤดูแล้งฝายชะลอน้ำ สามารถลดอัตราการไหลของน้ำในลำธารได้มากกว่าร้อยละ ๙๐ ในขณะเดียวกันหากน้ำมีตะกอนแขวนลอยสูง ฝายชะลอน้ำสามารถลดปริมาณตะกอนได้มากกว่าร้อยละ ๘๐การไหลที่ช้าลงทำให้น้ำมีโอกาสพักตัวและแทรกซึมเข้าไปในดินสองฟากฝั่งมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำในชั้นดินเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ ๔๐ (พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล และคณะ, ๒๕๕๒) และจากการศึกษาลุ่มน้ำเปรียบเทียบที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง พบว่าการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน ๑๒๕ ฝาย
ในลุ่มน้ำขนาดเล็กที่ที่มีพื้นที่ประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตรและมีความลาดชันเฉลี่ยประมาณ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ สามารถช่วยลดความรุนแรงในการไหลของน้ำได้มากกว่าร้อยละ ๕๔ (พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล และเพชร พลอยเจริญ, ๒๕๕๒) การสร้างฝายชะลอน้ำที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ใน ป่าบริเวณสองฝั่งลำห้วยเพิ่มมากขึ้นทั้งในป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง (ประดิษฐ์ ตรีพัฒนาสุวรรณ และเพชร พลอยเจริญ, ๒๕๔๙) พบว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัยโดยอาศัยแบบจำลองพบว่าฝายชะลอน้ำที่ใช้งานมาแล้วและมีตะกอนตกอยู่เต็ม ยังคงสามารถทำหน้าที่ได้ดีอย่างต่อเนื่องโดยมีศักยภาพคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของฝายที่สร้างใหม่ (พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุลและวารินทร์ จิระสุขทวีกุล, ๒๕๕๐)
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางเคมี มีงานวิจัยที่แสดงข้อมูลอีกด้านหนึ่งของฝายชะลอน้ำ เช่น งานวิจัยที่รายงานว่า ระดับน้ำที่สูงขึ้นหลังจากการสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งทำให้น้ำไหลช้าลง จะส่งผลต่างๆ ดังนี้ ๑) อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเนื่องจากน้ำที่ไหลช้าลงจะมีการหมุนเวียนมวลน้ำไปสัมผัสกับอากาศน้อยลงส่งผลให้การระเหยของน้ำลดลง มีการสะสมความร้อนที่ผิวน้ำมากขึ้น ๒) การหมุนเวียนน้ำไปสัมผัสกับอากาศที่น้อยลงยังทำให้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำน้อยลงด้วย ๓) ตะกอนที่สะสมอยู่ท้ายฝายจะเปลี่ยนแปลงทำให้สภาพพื้นท้องน้ำเปลี่ยนไป คือ จากที่ควรจะเป็นกรวด หินและทราย ก็จะเปลี่ยนเป็นตะกอนดินและโคลนแทน ทำให้สังคมของสัตว์ที่อยู่ตามหน้าดินเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบไปถึงห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งน้ำขุ่นขึ้นส่งผลให้พืชน้ำสังเคราะห์แสงลดลง และตะกอนที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการย่อยสลายของแบคทีเรียมากขึ้น ทำให้มีค่าบีโอดี (Biological Oxygen Demand: BOD) สูงขึ้น และยังทำให้น้ำมีค่าความเป็นกรดมากขึ้นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของแบคทีเรียที่มากขึ้น ๔) ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะแผ่ออกจากลำน้ำเดิมซึ่งจะไปท่วมรากพืชที่อยู่ริมฝั่งน้ำทำให้รากขาดก๊าซออกซิเจนและเน่าตาย เมื่อตลิ่งขาดพืชที่จะเป็นตัวยึดก็จะทำให้เกิดการพังทลายได้ง่ายขึ้น 5) สังคมของพืชน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากกระแสน้ำไหลช้าลง โดยผลกระทบนั้นจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของฝายชะลอน้ำ เช่น ความสูง ชนิด รูปร่าง เป็นต้น ดังนั้นก่อนการสร้างฝายจึงควรมีการศึกษาและวิจัยอย่างละเอียด (Kunpradid et al, ๒๕๔๗) ขณะเดียวกันกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการสร้างฝายชะลอน้ำ ที่น้ำตกวชิรธารและลำห้วยทรายเหลือ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าการสร้างฝายส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศลำธารอย่างรุนแรง ทำให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวหายไปและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นๆ เช่น พื้นที่อาศัยของแมลงน้ำลดลง ทำให้นกกินแมลงและปูที่เป็นอาหารของเต่าปูลูลดลง ซึ่งส่งผลให้จำนวนเต่าปูลูลดลงไปด้วย (นณณ์ ผาณิตวงศ์, ๒๕๕๓)
ดังนั้น เพื่อการสร้างฝายชะลอน้ำให้ได้ผลดีที่สุดต่อทุกฝ่ายและเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระบบนิเวศเดิมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นให้น้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถเลือกชนิดหรือรูปแบบฝาย รวมทั้งวิธีการสร้างฝายที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่และปัจจัยต่างๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและปัจจัยทางกายภาพในบริเวณนั้น และทำให้ฝายชะลอน้ำที่สร้างขึ้นเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น